ภาพคนเหมือน ( Portrait ) เป็นภาพคนที่นิยมเขียนกันมาก เนื่องจากในเชิงศิลปะ มนุษย์ จัดว่า
เป็นสิ่งที่มีรูปร่างที่สวยงามที่สุด ลักษณะของภาพคนเหมือนจะวาดตั้งแต่ใบหน้าถึงเอว บางครั้งก็เขียนเต็มตัว หรืออาจวาดเฉพาะใบหน้าอย่างเดียวก็ได้ แต่มีจุดประสงค์เพื่อแสดงความเหมือนของหน้าตา ผิวพรรณ อารมณ์ และความรู้สึกของผู้ที่เป็นแบบ ผู้วาดจะต้องสังเกตจับบุคลิกพิเศษบนใบหน้าของผู้ที่เป็นแบบให้ได้ เพราะใบหน้าของแต่ละบุคคลย่อมจะมีลักษณะที่เด่นแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามการเขียนภาพคนเหมือนจะต้องศึกษาลักษณะโครงสร้างทางกายวิภาคของศีรษะรวมถึงตำแหน่งอวัยวะต่างๆ บนใบหน้า เพื่อทำให้ภาพที่วาดออกมามีความเป็นจริงตามธรรมชาติของคนที่เป็นแบบ
การวาดภาพคนเหมือนสามารถวาดได้จากแบบหุ่นคนจริงหรืออาจใช้ภาพถ่ายเป็นแบบก็ได้
แต่การวาดจากหุ่นจริงจะให้ภาพมีชีวิตชีวามากกว่า เพราะผู้วาดมีโอกาสได้สัมผัสกับบุคลิกลักษณะ อารมณ์ ความรู้สึกของผู้ที่เป็นแบบซึ่งผู้วาดสามารถที่จะถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ลงในภาพได้
การร่างสัดส่วนของใบหน้า ใบหน้าคนแบ่งออกเป็น สามส่วนครึ่ง คือ
ส่วนที่ 1 จากปลายคางถึงปลายจมูก
ส่วนที่ 2 จากปลายจมูกถึงหัวคิ้ว
ส่วนที่ 3 จากหัวคิ้วถึงไรผม
ส่วนที่ 3½ จากไรผมถึงกลางศีรษะ
หลักการวาดเส้นภาพคนเหมือน
1. การจัดภาพ ควรคำนึงถึงความเหมาะสมสมกับหน้ากระดาษ คือ ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป
และสิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรคำนึงในการจัดภาพคือ การเลือกมุมที่จะวาด ควรเลือกมุมที่วาดได้ง่าย แสงเงาชัดเจน
2. การร่างภาพ มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
2.1 กำหนดโครงสร้างส่วนรวมด้วยรูปรงง่าย ๆ จากนั้นจึงแบ่งส่วนของศีรษะออกเป็น
สามส่วนครึ่งโดยประมาณ โดยวัดจากปลายคางถึงปลายจมูก 1 ส่วน จากปลายจมูกถึงหัวคิ้ว 1 ส่วน จากหัวคิ้วถึงไรผม 1 ส่วน และจากไรผมถึงส่วนบนสุดของศีรษะอีกครึ่งส่วน
2.2 ร่างส่วนสำคัญที่แน่นอนของใบหน้าเบา ๆ เช่น คิ้ว จมูก รูปเค้าโครงของใบหน้า
ที่ละเอียดขึ้น กำหนดตำแหน่งของดวงตา ใบหู และปาก โดยมีของสังเกต คือ หัวตาทั้งสองข้างมักจะอยู่ในแนวดิ่งเดียวกับปีกจมูก ส่วนบนของใบหูมักจะอยู่ในระดับเดียวกับหางคิ้ว
และติ่งหูมักจะอยู่ในระดับเดียวกับปลายจมูก สำหรับการกำหนดตำแหน่งของปาก ให้ลากเส้นแบ่งครึ่งระหว่างปลายจมูกกับปลายคาง เส้นนี้จะกำหนดตำแหน่งของริมฝีปากล่าง
การกำหนดตำแหน่งของมุมปากจะอยู่ในแนวดิ่งเดียวกันกับตาดำในกรณีที่มองด้านตรง ส่วนขนาดของปากเล็ก ปากใหญ่ ตาตี่ตาโต หรือตาชี้ขึ้นชี้ลง ต้องสังเกตจากแบบ
ที่เราวาดว่าแต่ละคนมีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันอย่างไร
3. การแรเงา แบ่งส่วนที่เป็นแสงกับเงาออกจากกันก่อนด้วยเส้นร่างเบา ๆ จากนั้นจึงแรเงา
น้ำหนักอ่อนที่สุดลงไปในพื้นที่ทั้งหมดก่อน แล้วค่อยๆเพิ่มน้ำหนักให้เข้มขึ้นไปที่ละขั้น ห้ามลงน้ำหนักเข้มด้วยการกดดินสอให้หนักในที่เดียว เพราะจะทำให้ภาพที่ออกมาดูแข็งกระด้าง
ไม่มีบรรยากาศ ระหว่างแรเงาพยายามเปรียบเทียบน้ำหนักอ่อน - เข้ม ของหุ่นต้นแบบอยู่เสมอ จะทำให้การลงน้ำหนักแสงเงาได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น
การวาดเส้นภาพคนเหมือนจากคนจริง ผู้ที่ฝึกใหม่ควรฝึกวาดอวัยวะที่สำคัญแต่ละส่วนของ
ใบหน้า เช่น ตา หู จมูก และปาก ในมุมมองที่หลากหลาย และให้ฝึกจนเกิดความชำนาญ ผู้ฝึกสามารถ
ที่จะฝึกวาดจากหุ่นปูนปลาสเตอร์ ภาพถ่าย หรือตัวอย่างจากแบบฝึก เพื่อให้มีความเข้าใจในโครงสร้างสำคัญและลักษณะแสงเงาตามความเป็นจริง